01/03/2564

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ปี 2563


ปี 2563

             สำหรับในปีนี้ โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ยังคงผสานความมือกับโครงการสนับสนุนกิจกรรม ของสถาบันการศึกษา EISA (Educational Instituted Support Activities) เพื่อขับเคลื่อนโครงการ Creative Young Designer อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังร่วมกับสโมสรฟุตบอล ในการออกแบบและพัฒนา ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นของที่ระลึก รวมถึงสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายในร้านค้าของสโมสรอีกด้วย  โดยมีพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้

  • วิสาหกิจชุมชนคอตตอนดีไซน์ จ.ปทุมธานี

                        จุดเด่นและเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้าวิสาหกิจชุมชนคอตตอนดีไซน์ จ.ปทุมธานี คือ การนำ “เส้นฝ้ายใยบัวหลวง” ที่มีคุณสมบัติบางเบาให้สัมผัสที่นุ่มนวล โดยเกิดจากการนำเส้นใยจากก้านบัวปั่นรวมกับเส้นฝ้ายมาทอเป็นผืนผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นความท้าทายของนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่จะต้องนำองค์ความรู้ตลอดจนทฤษฎีจากชั้นเรียน มาประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่คงอัตลักษณ์ของผ้าขาวม้าท้องถิ่น (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

  

                         นอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังผสานความร่วมมือกับ สโมสรฟุตบอลโปลิส เทโร เอฟซี จัดการประกวด “Rebranding Project”  เพื่อเฟ้นหาผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายแนว Sport และของที่ระลึกสำหรับสโมสรฟุตบอล โดยใช้ผ้าขาวม้าวิสาหกิจชุมชนคอตตอนดีไซน์มาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ 

 

 

                    มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 6 ทีม รวมกว่า 40 คน และผลการตัดสินมีดังนี้  

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม THE ONE (เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมนำไปพัฒนาต้นแบบผลิตภัณพ์ให้กับวิสาหกิจชุมชนคอตตอนดีไซน์ และโสมสรฟุตบอลโปลิสเทโรอีกด้วย))

 

  • รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Tero lab (เงินรางวัล 3,000 บาท)

 

  • รองชนะเลิศอันดับ 2  ได้แก่    ทีม Umbrella slide (เงินรางวัล 2,000 บาท)

 

  • กลุ่มทอผ้าบ้านหนองลิง จ.สุพรรณบุรี

                        จุดเด่นและเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้ากลุ่มทอผ้าบ้านหนองลิง จ.สุพรรณบุรี  คือ การสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมชองชนชาติมอญ โดยเน้นผ้าขาวม้าสีขาวและสีแดง พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวในยุคสมัยทราวดี ขุนช้างขุนแผน ผ่านการปักลวดลายบนผืนผ้า สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พร้อมมอบหมายภารกิจสำคัญให้กับนักศึกษาในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากผ้าขาวม้าให้แก่สโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี เอฟซี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าของชุมชนให้ยั่งยืนสืบต่อไป

  

  

                       สำหรับผลงานการออกแบบของนักศึกษาที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้แก่กลุ่มทอผ้าบ้านหนองลิง จำนวน 10 ชิ้นงาน ประกอบด้วย กระเป๋าเป้ ผ้ากันเปื้อน พวงกุญแจ หมวก สายคล้องกล้อง สายนาฬิกา เป็นต้น

 

 

                         นอกจากนี้ยังส่งมอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบของพรีเมียมให้แก่ทางสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี เอฟซี จำนวน 10 ชิ้นงาน ประกอบด้วย ธงที่ระลึก กระเป๋า สายข้อมือ ถุงเท้า เป็นต้น

  

 

  • กลุ่มทอผ้าบ้านไทรงาม จ.สระแก้ว

                        จุดเด่นและเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้ากลุ่มทอผ้าบ้านไทรงาม จ.สระแก้ว อยู่ตรงที่ลวดลายของผ้าขาวม้าใน 2 ลักษณะ คือ ลายผ้า “ตาคู่” และ “ตาโด” (ตาหมากรุก) ซึ่งทอด้วยกี่ทอผ้าแบบโบราณ ส่วนเส้นใยที่นำมาใช้ทอจะได้จากคอปกเสื้อยืดที่มีตำหนิจากโรงงานโดยผ่านการแยกชนิดของเส้นใยมาแล้ว เรียกได้ว่าเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ลดทั้งต้นทุน และมลพิษของสภาวะแวดล้อมอีกด้วย

                        นอกเหนือจาก 2 ลายข้างต้นแล้ว ยังมี “เกร็ดเต่า” ลายโบราณที่ไม่ล้าสมัย โดดเด่น มีเสน่ห์ ให้มุมมองในรูปแบบ 3 มิติ ใช้เทคนิคการสืบเส้นยืน การวางกระสวยสอดกระทบเส้นพุ่ง ซึ่งผู้ทอจะต้องมีพื้นฐานและทักษะการทอผ้าที่ดีเป็นพิเศษ

  

                         ภายใต้ความต้องการของชุมชนที่มุ่งเน้นเทคนิคและวิธีการย้อมสีธรรมชาติทำให้สีติดทนนาน รวมถึงลายผ้าขาวม้าที่มีความร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชุมชน จึงเป็นหน้าที่ของน้องๆ นักศึกษาจากสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะต้องนำองค์ความรู้ในเชิงวิชาการ ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถรังสรรค์ชิ้นงานออกมาภายใต้แนวคิด “PAKAOMA : From Highland of Thailand” รวม 130 ผลงาน ผ่านการคัดเลือกและส่งมอบให้แก่ชุมชนจำนวน 22 ผลงาน พร้อมตัวอย่างสีธรรมชาติกว่า 50 เฉดสี เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนในการย้อมสีธรรมชาติต่อไป

  

 

 

  • กลุ่มทอผ้าบ้านหนองขาว จ.กาญจนบุรี

                        บ้านหนองขาว จ.กาญจนบุรี หรือ “เมืองผ้าขาวม้าร้อยสี” เป็นแหล่งผลิตผ้าขาวม้าที่สำคัญของประเทศไทย จุดเด่นและเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ สีสันของฝ้าขาวม้าที่มีความหลากหลายกว่า 100 เฉดสี รวมถึง “ผ้าขาวม้าลายตราจักร” ที่ใช้กันมาแต่โบราณ

  

                       สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกับ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าประเภท เสื้อผ้า เครื่องประดับ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค จนเกิดเป็นผลงานการออกแบบกว่า 200 ผลงาน ที่พร้อมส่งมอบสู่กลุ่มทอผ้าบ้านหนองขาวใช้ในการผลิตเป็นสินค้าเพื่อการพาณิชย์ต่อไป

  

 

  • กลุ่มทอผ้าบ้านเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์

                        จุดเด่นและเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้ากลุ่มทอผ้าบ้านเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ คือ ผ้าขาวม้า 9 เส้น ซึ่งเป็นลายผ้าที่ผสมผสานความเก่าและความใหม่เข้าด้วยกัน แม้ว่าลวดลายสีสันในด้านยืนจะเป็นแบบใดก็ตาม แต่เวลาทอด้านพุ่งกระสวยจะต้องเป็น 9 เส้นเสมอ

  

                        สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกับ สถาบันส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ในการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าให้ตอบโจทย์ความต้องการรวม 4 คอลเลกชัน ประกอบด้วย ชุดไทยประยุกต์ ชุดเสื้อผ้าแนวสปอร์ต เสื้อเชิ้ต และชุดราตรี รวมไปถึงชุดพานพุ่มบายศรีที่นำเอาผ้าขาวม้าเขาเต่ามาประยุกต์อีกด้วย

 

 
 

                         นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยรังสิต ยังดำเนินการสำรวจพื้นที่พร้อมผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยว ตลอดจนงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชนต่อไป

 

  • กลุ่มทอผ้าบ้านหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย

                        จุดเด่นและเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย คือ ผ้าขาวม้าที่มีลายข้างบริเวณชายผ้า ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่นักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะต้องนำมาสร้างสรรค์และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้แก่สโมสรฟุตบอลสุโขทัย เอฟซี โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างครบถ้วน (อยู่ในระหว่างดำเนินการ)

  

  

  

 

 

  • กลุ่มทอผ้าบ้านดอนแร่ จ.ราชบุรี

                        จุดเด่นและเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้ากลุ่มทอผ้าบ้านดอนแร่ จ.ราชบุรี  แตกต่างจากผ้าขาวม้าลายตารางของชุมชนอื่นๆ โดยจะเป็น “ผ้าขาวม้าลายจก” หรือ “ผ้าบน” ซึ่งจะนำมาใช้กับช่วงบนของร่างกาย สำหรับผู้ชายเท่านั้น อาทิ ผ้าปรกหัวนาค ผ้าครองออกบวช หรือผ้าพาดบ่า โดยปัจจุบันทางกลุ่มได้นำนวัตกรรมเส้นใยจากวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ผักตบชวา ข้าวโพด ฯลฯ เป้าหมายสำคัญของชุมชนในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ คือการขยายฐานผลิตภัณฑ์แปรรูปผ้าขาวม้าให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของนักศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมพัฒนาและออกแบบของที่ระลึกให้แก่สโมสรฟุตบอลราชบุรี มิตรผล เอฟซี อีกด้วย (อยู่ระหว่างดำเนินการ)
  

  

                             ทั้งนี้ ตลอดปี 2563 สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้า จำนวน 28 กลุ่มชุมชน รวมมูลค่ากว่า 31.95 ล้านบาท