27 ก.พ.2560 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ พร้อมด้วย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ร่วมแถลง “ผลการดำเนินงานตลอดปี 2559 พร้อมทิศทางการขับเคลื่อนแผนงานต่อไปในปี 2560” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หลังจากคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ได้รับนโยบาย สานพลังประชารัฐ จาก พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยการผนึกกำลังความร่วมมือจาก 5 ภาคส่วน คือ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้ประชาชนมีความสุข เพื่อความยั่งยืน ภายใต้ 3 กลุ่มงาน คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมขับเคลื่อน และพัฒนาตลอดต้นทาง จนถึงปลายทาง ด้วยกระบวนการทำงานจาก 5 ฟันเฟืองหลัก คือ การเข้าถึงปัจจัยการผลิตการสร้างองค์ความรู้จากในชุมชน การสร้างการตลาดแบบบูรณาการ วิเคราะห์ตลาดไปจนถึงการหาช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ การสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน อาทิด้าน บัญชี ต้นทุน และความเสี่ยง จนเกิดการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) ใน 76 จังหวัด ทั่วประเทศไทย ตามโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทย นั้น
ล่าสุด คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ นำโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ พร้อมด้วย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ร่วมกันแถลง “ผลการดำเนินงานตลอดปี 2559 พร้อมทิศทางการขับเคลื่อนแผนงานต่อไปในปี 2560”
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหัวหน้าทีมภาครัฐ เผยว่า “สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมกราคม 2559 จนบัดนี้ ครบ 1 ปีแล้วที่เหตุการณ์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีความก้าวหน้าไปมาก เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ เพราะทุกภาคส่วนล้วนมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนคนไทยอย่างตั้งใจจริง คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องพัฒนาแนวคิดในเรื่อง “ วิสาหกิจเพื่อสังคม” หรือ Social Enterprise เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
คณะทำงานฯ มีรหัสการทำงานคือ 1 – 3 – 5 – 76+1 คือ 1 เป้าหมาย 3 กลุ่มงาน 5 กระบวนการ 76 จังหวัดตามโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทย 1 เป้าหมาย คือ สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่าน 5 กระบวนการในการดำเนินงาน 76 คือ ส่วนของการจัดตั้ง “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด(วิสาหกิจเพื่อสังคม)จำกัด”ทั้ง 76 จังหวัดและมีส่วนกลางอีก 1 คือ “บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด” โดยคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐได้นำแนวคิด“วิสาหกิจเพื่อสังคม”มาจัดตั้งเป็นบริษัทฯ ทั้ง 76 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็น “นวัตกรรมที่เป็นรูปแบบใหม่ของโลก”
นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังมีการจัดตั้ง”คณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.)” เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนการทำงานของ 12 คณะตามนโยบายสานพลังประชารัฐ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯทั้ง 76 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแกนหลักในการบูรณาการทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดพลังในการทำงาน และใช้บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯไปช่วยเสริมความเข้มแข็ง สนับสนุนเชิงธุรกิจตามที่ชุมชนมีความต้องการ นำความรู้ในด้าน ต่าง ๆ มาช่วยพัฒนาศักยภาพของชุมชน
ปรากฏผลการดำเนินงานในการเข้าช่วยเหลือกลุ่มชุมชนเป้าหมาย ตลอด 1 ปีที่ผ่านมากว่า 1,200 กลุ่มทั่วประเทศ เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จากเดิมเป็น”Thailand 1.0” ให้เป็น “1.0 ที่ใช้นวัตกรรม” ทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีทั้ง”คุณค่าและมูลค่า”สูงขึ้น นับจากนี้จะเร่งเดินหน้าสานพลังประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน และให้ทุกชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ “Thailand 4.0”
ทางด้านของ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน เผยว่า “ สำหรับโครงการ สานพลังประชารัฐ ในคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ บทบาทสำคัญของภาคเอกชน จะร่วมกับอีกสี่ภาคส่วนด้วยกัน คือภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวคือ การสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ฉะนั้นเรามีการวางกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มงานที่เรียกว่า กลุ่มงานเกษตร กลุ่มงานแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมี 5 กระบวนการทำงาน คือในเรื่องของการบริหารการจัดการและในรายละเอียดอื่น ๆ ในเรื่องการสร้างองค์ความรู้ การสื่อสารการตลาดการเข้าถึงปัจจัยการผลิต และเรื่องของการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด จากหลักการดังกล่าวนำมาสู่การจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด ตามที่ท่าน พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าทีมภาครัฐ ได้กล่าวไว้ข้างต้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งอีกหนึ่งบริษัทก็คือ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำหน้าที่เป็นส่วนกลาง ไม่ได้ลงไปควบคุมกำกับดูแลการทำงานของบริษัทจังหวัด แต่มีระบบการบริหารจัดการในเชิงทางด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม โดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ถือว่าเป็นการทำงานในรูปแบบที่จากข้างล่างขึ้นข้างบน ซึ่งผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของการดำเนินงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือและดำเนินการชุมชนกลุ่มเป้าหมายตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มากว่า 1,200 กลุ่มทั่วประเทศ ที่มีความเชื่อมโยงในระดับประเทศ ได้แก่โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ที่จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าของแต่ละชุมชน เปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาดของผ้าขาวม้าจากสินค้าทั่วๆ ไป ให้เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ และความคิดสร้างสรรค์ โครงการลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้ เป็นความร่วมมือของเกษตรกร และภาคเอกชน แก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตลองกองของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตไปยังห้างค้าปลีกในเครือข่ายภาคีความร่วมมือ โดยผนึกกำลังร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ชั้นนำของประเทศไทย รวมทั้งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการบริโภคลองกอง โครงการผ้าบาติก เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนทางภาคใต้นำเอาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มาเพิ่มมูลค่าในหลากหลายมิติ เช่น การเอาผ้ามาเย็บกับกระเป๋าสานเรียกว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดได้มากขึ้น โครงการเครื่องสีข้าวครัวเรือน ที่จะมาสร้างความเชื่อมโยงระหว่างชาวนากับผู้บริโภค ปรับวิถีการบริโภคข้าวให้รับรู้ถึงความหลากหลายของสายพันธุ์ คุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกัน และตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จที่สามารถแบ่งออกตาม 3 กลุ่มงานคือ กลุ่มเกษตร คือ Phuket Lobster Festival 2016 เพื่อร่วมรณรงค์ และประชาสัมพันธ์กุ้งมังกรเจ็ดสี หรือภูเก็ตล็อบสเตอร์ ที่ถือเป็นของดีเมืองภูเก็ต ให้เป็นที่รู้จักสู่สาธารณะเหมือนในอดีตที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จัก และหวังสร้างรายได้ให้กับชุมชนผู้เลี้ยงกุ้งมังกร นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ สับปะรดภูเก็ต เป็นผลิตผลทางชุมชนของ จ. ภูเก็ต ที่สามารถนำมาสร้าง Story ทางการตลาด เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าโดยเน้นขายเป็นลูกมากกว่าขายยกเข่ง ลำใยจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทางบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าไปสนับสนุนและช่วยเหลือผลักดันให้ผู้ปลูกลำไยใน ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี ที่ประกอบไปด้วยเกษตร 137 ครัวเรือน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่สามารถทำการซื้อขายผลผลิตด้วยตัวเองจนครบวงจรเป็นครั้งแรก เป็นต้น กลุ่มแปรรูป ด้วยการส่งเสริมให้มการพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอดในการแปรรูป เช่น ขนมหม้อแกงฟักทองอินทรีย์, กาแฟดริป ชุมชนถ้ำสิงห์, ถั่วป่านทอง อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด เป็นต้น กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อนำอัตลักษณ์ของความเป็นชุมชน นำมาสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน พร้อมทั้งยังเกิดการเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่มาท่องเที่ยวอีกด้วย อย่างเช่น ชุมชนแหลมผักเบี้ย,ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ (จ.เพชรบุรี),บ้านสนวนนอก (จ.บุรีรัมย์) ห้วยพ่าน (จ.น่าน) ชุมชนขัวน้อย บ้านชีทวน (จ. อุบลราชธานี) กู่กาสิงห์ (จ.ร้อยเอ็ด) ชุมชนป่าคลอก (จ.ภูเก็ต)เป็นต้น ครับ และในปี 2560 ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน มีความพร้อมที่จะเร่งเครื่องอย่างเต็มกำลัง ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการทำงานอย่างเต็มที่ และเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอนครับ”
นอกจากนี้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จุดมุ่งหมายในการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ คือ การเสริมสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนและชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความสุขซึ่งภายหลังได้มอบภารกิจจากรัฐบาลคณะทำงานฯ ก็ได้กำหนดการดำเนินงานโดยมีกรอบการขับเคลื่อนงานภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์พระราชทาน “ระเบิดจากข้างใน” ที่ยึดปัญหาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง มีการดำเนินงานในลักษณะหุ้นส่วนภาครัฐ เอกชน และประชาชน (ประชารัฐ) เน้นการขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมที่เป็น Action Agendaใน 3 ประเด็นหลัก คือ ลดความเหลื่อมล้ำเน้นในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนโดยยึดความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง พัฒนาคุณภาพคน เน้นสร้างองค์ความรู้ในระดับชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และมีช่องทาง (Platform) สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน ที่แสดงให้เห็นว่า สานพลังประชารัฐ นั้นยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญมาก เป็นพลังแห่งความดีที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ทุ่มเทสรรพกำลังและตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมทั้งผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของทั้งประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป”