บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)ร่วมกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานเสวนาในหัวข้อ "Sustainable Leadership Series #1: Inspirations for Next Generations" ให้กับคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือก 140 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศเกือบ 1,000 คน ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการสร้างผู้นำการพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ในแต่ละจังหวัดซึ่งมีประสบการณ์ มีความเป็นผู้นำและมีความสามารถในการแก้ปัญหา โครงการนี้จะผสมผสานการถ่ายทอดองค์ความรู้และการทำงานจริงในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างทักษะการบริหารธุรกิจชุมชนและการพัฒนาชุมชนแบบ Area Based โดยมี ม.ร.ว ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก Dr. Peter Senge (ปีเตอร์ เซงเก้) ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ระดับโลก ศาสตราจารย์จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ Founding Chair of the Society for Organizational Learning รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือวินัย 5 ประการสำหรับองค์กรแห่งการเรียนรู้ ร่วมเสวนา โดยมี คุณสุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารและกองบรรณาธิการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินรายการ
ด้าน Dr. Peter Senge (ปีเตอร์ เซงเก้) เปิดเผยว่า “โครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิดของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัดเป็นโครงการที่ดีที่ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาองค์ความรู้ให้ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ”
โครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” จัดทำขึ้นโดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี เข้าร่วมโครงการ หลังจากนี้จะคัดผู้เข้าร่วมโครงการให้เหลือเพียงจังหวัดละ 1 คน เพื่อร่วมพัฒนาชุมชนในจังหวัดบ้านเกิด , เรียนรู้แนวทางการทำงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) , แนวทางการบริหารและการสื่อสารแบบผู้นำ และสร้างเครือข่ายกับผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ โดยเน้นการศึกษาองค์ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาวิสาหกิจเพื่อชุมชน (SE) ให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ
คุณอภิชาติ โตดิลิกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า “การทำวิสาหกิจชุมชนของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดไม่มีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แต่จะเก็บเงินกำไรในการดำเนินกิจการเพื่อนำไปต่อยอดขยายผลให้กับชุมชนใหม่ ซึ่งแนวคิดนี้นี้เป็นการดำเนินงานแบบคู่ขนาด เป็นการนำเอาจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมารวมพลังกันให้เป็นพลังประชารัฐ โดยจุดแข็งของภาครัฐคือการมีข้าราชการเต็มพื้นที่ที่จะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จุดแข็งของเอกชนคือประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ ความทันสมัยและแผน
ธุรกิจที่ดี จุดแข็งของชาวบ้านคือมีการผลิตสินค้าที่หลายกหลายกว่า 80,000 ชนิด แต่ยังไม่มีการบริหารจัด การที่ดี ก็ได้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ รวมถึงความรักในบ้านเกิด ขณะนี้เราเอาจุดแข็งแต่ละส่วนมารวมกันแล้วแก้ปัญหาให้ได้ อันนี้คือโครงสร้างใหม่ และเอาเอสอีเข้าไปใส่คือบริษัทจำกัด เพราะฉะนั้นคอนเซปต์นี้ถ้าทุกคนช่วยกันทำและชุมชนต้องช่วยตัวเอง บริษัทไม่ได้ลงไปทำให้ แต่ไปต่อยอดไปทำสินค้าให้ขายได้ ไปช่วยเรื่องการตลาด ขาดอะไรใน 5 ฟันเฟืองก็จะเติมให้ โดยมีเป้าหมายอันเดียวตคือทำอย่างไรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ คุณวิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเสริมว่า “รัฐบาลเดิมในอดีตจะอยู่แต่ส่วนรัฐบาล ปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้นั่งจนกางเกงขาด แต่รัฐบาลรองเท้าขาด หมายถึงรัฐบาลเริ่มมองเห็นปัญหาที่มากกว่าจุดที่รัฐบาลทำ ข้าราชการเป็นคนขับเคลื่อนลงพื้นที่มากขึ้น หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องลงไปสานต่อคือเมื่อมีผลิตภัณฑ์แล้วต้องมีช่องทางจำหน่ายไปทั้งในและต่างประเทศ สิ่งที่เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมากคือมันเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่ชุมชนที่มีความพร้อมและความเข้มแข็งต้องการเปลี่ยนแปลงและมาทำงานด้วยกัน เขาจะเป็นจุดที่ทำให้ชุมชนอื่น ๆ มองเห็นและเข้ามา เพราะเป้าหมายสุดท้ายคืออย่างให้ชุมชนเข้มแข็งและมีความภูมิใจ”