14/02/2560

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย


“ผ้าขาวม้า” เป็นผ้าท้องถิ่นของไทยที่มีมายาวนานกว่า 500 ปี เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวันมาช้านาน และมีหลายชุมชนที่ยึดถืออาชีพทอผ้าขาวม้าเพื่อเลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคน  ผ้าขาวม้าของแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านวัตถุดิบ ลวดลาย คุณภาพ และความเป็นมาเชิงลึก อย่างไรก็ดี คนทั่วไปอาจยังไม่มีความเข้าใจถึงรายละเอียดเหล่านี้ และอาจไม่เห็นคุณค่าของผ้าขาวม้าในเชิงศิลปวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ คณะทำงาน โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐและวิชาการ จึงได้มีความคิดริเริ่มจัดทำโครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในเชิงศิลปวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ส่งเสริมให้แต่ละชุมชนสร้างผ้าขาวม้าที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นชัดเจน และผลักดันให้เกิดการแปรรูปผ้าขาวม้าเป็นสินค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น  โครงการนี้จะเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนผ่านการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นผ่านการบอกเล่าความเป็นมาของผ้าขาวม้าของตนให้แก่สังคม และยังเป็นพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ การแปรรูป และ การตลาด อีกด้วย

“วัตถุประสงค์โครงการ”

  • สร้างความรักสามัคคีและความภาคภูมิใจในชุมชนผ่านการสร้างสรรค์ผลงานและการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของผ้าขาวม้าของตน
  • สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในเชิงศิลปวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
  • เฟ้นหาอัตลักษณ์ของผ้าขาวม้าจากชุมชนต่างๆและเสริมสร้างให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างการยอมรับอย่างเป็นทางการผ่านการจดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้าให้มีความหลากหลายและตรงต่อความต้องการของตลาด
  • ช่วยสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

“แนวทางการดำเนินโครงการ”

  • สร้างการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน คือ ภาคประชาชน/ประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ภาควิชาการ และ ภาครัฐ
  • จัดให้มีการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ ผลิต และ แปรรูปผ้าขาวม้า ในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง
  • เชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ออกแบบ และ ผู้ซื้อเข้าหากัน เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า

“การเพิ่มมูลค่าและแปรรูป”

โครงการมีเป้าหมายในการเสริมสร้างอัตลักษณ์ของผ้าขาวม้าในแต่ละท้องถิ่นให้มีความโดดเด่นเฉพาะตัว มีเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักของตลาด พร้อมทั้งพัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีความหลากหลายและตรงความต้องการของตลาดเพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน