14/05/2562

โครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิด


โครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิด

                        “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” นับเป็นโครงการระดับประเทศในลำดับแรกที่ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง “นักพัฒนาธุรกิจชุมชน” ให้เป็นผู้นำการพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่พร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่บ้านเกิดร่วมกับคณะกรรมการของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีระดับ จังหวัดทั้ง 76 แห่งทั่วประเทศ เป็นระยะเวลา 2 ปี 

                        “นักพัฒนาธุรกิจชุมชน” ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ จะมีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าร่วมพัฒนาชุมชนในบ้านเกิดของตนเอง เรียนรู้แนวทางการทำงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เรียนรู้แนวทางการบริหารและการสื่อสารแบบผู้นำ สัมผัสกับผู้บริหารระดับสูงของเครือข่ายธุรกิจระดับชาติที่สนับสนุนโครงการนี้ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายกับผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ก่อนลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานจริง ประกอบด้วย

  1. ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง รวมไปถึงการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจเพื่อชุมชน
  2. การทำงานกับภาครัฐ ด้วยการปรับฐานความคิด ความเข้าใจเรื่องภาคีภาครัฐ รวมไปถึงวิวัฒนาการกับการพัฒนาและหลักคิดการพัฒนาจากการเปลี่ยนแปลง
  3. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับฐานความคิดในเรื่องของ เกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ 
  4. อนุรักษ์องค์ความรู้ท้องถิ่น และการท่องเที่ยวโดยชุมชน
  5. ความเข้าใจเรื่องการบริหารธุรกิจ  แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมสู่การพัฒนาธุรกิจชุมชน นวัตกรรมทางสังคม การเขียนและการนำเสนอแผนธุรกิจ การตลาดเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจเพื่อสังคม การจัดหาทุน การวัดผลทางการเงิน และ Business Model Canvas 
  6. Best Practice ของภาคเอกชน และ การดำเนินงาน Social Enterprise ทั้งในและต่างประเทศ

                        หลังจากที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงในจังหวัดบ้านเกิดแล้ว บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ยังจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการรายไตรมาสให้แก่นักพัฒนาธุรกิจชุมชน เพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ การรับฟังข้อเสนอแนะพร้อมวิเคราะห์ให้เกิดเป็นแนวทางการพัฒนาที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงการนำเสนอผลการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีระดับจังหวัด

                        โครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” รุ่นที่ 1 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 900 คน ผ่านกระบวนการคัดสรรอย่างเข้มข้นจนเหลือเพียง 76 คน สุดท้ายเพื่อทำหน้าที่เป็น “นักพัฒนาธุรกิจชุมชน” ประจำบริษัทประชารัฐรักสามัคคีระดับจังหวัดทั่วประเทศ หลังจากนั้นเข้าร่วมฝึกอบรมและพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เป็นระยะเวลา 4 เดือน ก่อนที่จะลงปฏิบัติงานในพื้นที่จริงตามภูมิลำเนาของตนเองตั้งแต่ วันที่ 2 มกราคม 2561 เพื่อเป็นตัวแทนสื่อสารทำความเข้าใจกับชุมชน รวมถึงประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ภายใต้ความร่วมมือสนับสนุนจากคณะกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีระดับจังหวัด รวมไปถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนของจังหวัดนั้นๆ ในการบ่มเพาะประสบการณ์ และความเข้มแข็งให้กับนักพัฒนาธุรกิจชุมชน 

                          ตลอดระยะเวลา 2 ปี เต็มของการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน นักพัฒนาธุรกิจชุมชนหลายคนได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความทุ่มเททั้งพลังกาย และพลังใจอย่างแรงกล้า ในการเป็น 1 ในฟันเฟืองเล็กๆ ที่มีส่วนขับเคลื่อนการดำเนินงานของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีระดับจังหวัดให้ก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ...การสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประชาชน ให้อยู่ดีกินดี มีความสุข จนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการพิจารณาจากองค์กรชั้นนำต่างๆ ให้เข้าร่วมงานภายหลังจากสิ้นสุดสัญญา 2 ปี (วันที่ 4 กันยายน 2561) กับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด อาทิ

  • บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 20 ราย
  • บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด จำนวน 3 ราย
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 ราย
  • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 ราย
  • บริษัทประชารัฐรักสามัคคีระดับจังหวัด จำนวน 4 ราย
  • ธนาคาร จำนวน 5 ราย
  • รับราชการ จำนวน 5 ราย
  • ธุรกิจส่วนตัว จำนวน 15 ราย
  • ศึกษาต่อ จำนวน 3 ราย

                        สำหรับในปี 2560 บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงดำเนินโครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” อย่างต่อเนื่องเป็น ปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 643 คน ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 415 คน เข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์โดยแยกตามภูมิภาค จนได้ผู้ผ่านเข้ารอบเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Workshop และให้คณะผู้บริหารระดับสูงสัมภาษณ์ในรอบสุดท้ายจำนวนทั้งสิ้น 160 คน เพื่อคัดเลือกให้ทำหน้าที่เป็น “นักพัฒนาธุรกิจชุมชน” รุ่นที่ 2 จำนวน 76 คน หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมและพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เป็นระยะเวลา 2 เดือน และปฏิบัติงานจริงในพื้นที่จังหวัดของตนร่วมกับ “นักพัฒนาธุรกิจชุมชน” รุ่นที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา
                         ในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของการปฏิบัติหน้าที่ ยังจัดให้มีโครงการ “จุดประกายสานพลังเพื่อบ้านเกิด” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักพัฒนาธุรกิจชุมชนมีการวางแผนในการทำงานรวมถึงขับเคลื่อนงานร่วมกับชุมชนจนสามารถสร้างผลงานออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมประกาศผลการและมอบรางวัลในพิธีปิดโครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด รุ่นที่ 3” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2562 โดยมีผลการพิจารณาตัดสินดังนี้

- รางวัลส่งเสริมและพัฒนาชุมชน ประเภทสร้างสรรค์โครงการใหม่
ชนะเลิศ

  • โครงการ NAN CONNECT (การย้อมสีธรรมชาติจากเมล็ดกาแฟ) โดย นายณัฐพงศ์ ดีบุญ นักพัฒนาธุรกิจุชุมชนจังหวัดน่าน
  • โครงการ SUNPULOEI BRAND โดย นายปัณยวรระน์ วงศ์ไชย นักพัฒนาธุรกิจชุมชนจังหวัดพะเยา

- รางวัลส่งเสริมและพัฒนาชุมชน ประเภทโครงการต่อยอด
ชนะเลิศ

  • โครงการยกระดับผ้าทอจังหวัดบุรีรัมย์ (BU CRAFTS) โดย นายพัฒนชัย ลิมไธสง นักพัฒนาธุรกิจชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์
  • โครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน เมืองมะดัน @ นครนายก โดย นายภัทรพล ปฐมมหาธนเดช นักพัฒนาธุรกิจชุมชนจังหวัดนครนายก

รองชนะเลิศ 

  • โครงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร (ฟักทอง) โดย นางสาวปานิดา สิงห์สา นักพัฒนาธุรกิจชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี