22/03/2561

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถ์ศิลป์ไทย 2


บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน    กระทรวงมหาดไทย  จัดงานแถลงข่าวเปิด “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย 2561” สานต่อความสำเร็จของโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังเปิดโครงการครั้งแรกไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนทำให้กระแสแฟชั่นผ้าขาวม้ากลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งอย่างรวดเร็ว โดยโครงการปีนี้มุ่งสร้างความต่อเนื่อง และต่อยอดกิจกรรมพัฒนาชุมชนผู้ผลิตที่ได้จากการประกวดในปี 2560 พร้อมปลุกทายาทผ้าขาวม้ารุ่นใหม่ให้มาร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมผ้าขาวม้าท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและต่อยอดทางธุรกิจ และสร้างการรับรู้ให้เห็นสร้างมูลค่าให้กับ “ผ้าขาวม้าทอมือ” เพื่อสืบสานภูมิปัญญา อนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ทอมือ ทอใจ ช่วยชุมชน อย่างยั่งยืน”

โดยมี คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะเลขานุการร่วมภาครัฐ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ และคุณฐาปน  สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เป็นประธานร่วมงานใน พิธีแถลงข่าว โดยมี คุณต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมด้วย ดร. ขจิต สุขุม ผู้อำนวยการสำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ Beyond Living และ คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมในงานแถลงข่าวดังกล่าว พร้อมชมแฟชั่นโชว์ ชุดราตรีผ้าขาวม้า โดยฝีมือ Young Designer ที่ได้รับรางวัลการประกวดจากโครงการฯ ในปี 2560 ที่ผ่านมา

เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการ คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย เป็นความตั้งใจของทีมงานทุกภาคส่วนภายใต้ ดำเนินงานโดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด  ได้ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าทอมือในเชิงศิลปวัฒนธรรมในสังคมไทย รวมถึงส่งเสริมชุมชนสร้างสรรค์ ผลงานผ้าขาวม้าที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่น และผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่า รวมถึงการแปรรูปผ้าขาวม้าทอมือให้มีความหลากหลาย และทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยถึง 35 ล้านคน จึงมีรายได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับเจ้าของทัวร์ โรงแรม และร้านอาหาร แต่ลงไปไม่ถึงชุมชน  รัฐบาลจึงคิดทำแหล่งท่องเที่ยวขนาดย่อมกระจายอยู่ทั่ว 77 จังหวัด เพื่อให้เกิด Local economy โดยนำเอาสินค้าโอทอปเป็นจุดดึงดูดผสมไปกับการท่องเที่ยว เพราะสินค้าโอทอปเป็นสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัว        กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัดทำ “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” เริ่มจากการคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพ  ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยว ต้นทุนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นคงธรรมชาติไว้แหมือนเดิม  เป็นเจ้าบ้านที่ดีให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจย่อมพร้อมจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น  โครงการ OTOP นวัตวิถี และชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชุมชน นำมาประยุกต์เป็นของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์  เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน โดยนำภูมิปัญญา วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาแปลงเป็นรายได้ ทำให้รายได้กระจายอยู่ภายในชุมชน 

และสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และมีรายได้ที่ยั่งยืน รวมถึงการสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนว่า ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่จะช่วยทอใจร้อยรวมเป็นหนึ่งให้ชุมชนมีรายได้มั่นคง และยั่งยืน”

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย เป็นโครงการหนึ่งของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ที่ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาตลอด 1 ปี   จากการผสานความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน  ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และได้มีการสานต่อเป็น โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย 2561  โดยในปีนี้มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ชุมชนผู้ผลิตทั่วประเทศ มุ่งเน้นให้คนรุ่นใหม่ หรือทายาทผ้าขาวม้าได้ร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมผ้าขาวม้าทอมือให้มีความร่วมสมัย อีกทั้งยังช่วยสนับสนุน และส่งเสริมเพื่อให้ชุมชนผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน  ซึ่งในแต่ละกิจกรรมได้รับความสนใจจากชุมชนผู้ผลิต รวมทั้งชุมชนต่าง ๆ เป็นอย่างดี  ทั้งหมดนี้นับเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินฝันในการที่ทำให้ผ้าขาวม้าของแต่ละหมู่บ้านมีอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่นและมีมูลค่า นำไปสู่การที่ประเทศไทยจะมีผ้าขาวม้าประจำหมู่บ้านได้อย่างแน่นอน”

คุณต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ดูแลโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย เปิดเผยว่า “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย                                      มีวัตถุประสงค์หลัก คือการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับของชุมชนผู้ผลิต และผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า รวมถึงการสร้างการรับรู้ผ้าขาวม้าทอมือ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยตลอดปี 2560 ที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมการต่าง ๆ เช่น การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้บริโภค และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในกลุ่มชุมชนผู้ผลิตทั้งในกรุงเทพมหานคร และระดับภูมิภาค รวมไปถึงการนำแฟขั่นผ้าขาวม้าไทยไปโกอินเตอร์ และนำไปแสดงที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และกิจกรรม The Charm of Pakaoma โดยได้เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกแบบผ้าขาวม้าทอมือให้เป็นชุดราตรี และในการดำเนินโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ประจำปี 2561 ก็ยังคงมีการสานต่อความสำเร็จ และดำเนินงานอย่างเข้มข้นจากการสนับสนุนของทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ที่สำคัญคือการสร้างมูลค่า สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน และทายาทรุ่นใหม่ของผู้ผลิตผ้าขาวม้าในประเทศไทยต่อไป”

นอกจากนี้ โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ประจำปี 2561 ยังมีสร้างความต่อเนื่อง และต่อยอดกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าด้วยการ “จัดอบรมสัมมนาเชิงลึกให้แก่ชุมชนผู้ผลิต” ทั้งในกรุงเทพมหานคร และระดับภูมิภาค เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการ นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า การส่งเสริมการสร้าง อัตลักษณ์ให้แก่ชุมชน โดยตั้งเป้าหมายชุมชนผู้ผลิตในการสัมมนา จำนวน 502  เพื่อเชิญชวน และปลุกให้ทายาทผ้าขาวม้าคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมผ้าขาวม้าทอมือ รวมถึงการรวมตัวเป็น Cluster เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และการต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ผ้าขาวม้าผ่านกิจกรรม “การเฟ้นหาทายาทผ้าขาวม้าไทย” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นชุมชนผู้ผลิตต้นแบบที่ยังคงสืบสานปัญญาท้องถิ่น และนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป รวมทั้งการประกวดออกแบบผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ประจำปี 2561” ภายใต้แนวคิด “นวอัตลักษณ์” ที่จะเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมประกวดออกแบบผลงานผ้าขาวม้าทอมือ 3 สาขา ประกอบด้วย ด้านแฟชั่น , เคหะสิ่งทอ และการออกแบบลายผ้าขาวม้า เพื่อชิงรางวัลมูลค่ากว่า 600,000 บาท พร้อมนำผู้ชนะเลิศไปศึกษาดูงานแฟชั่นโชว์ต่างประเทศ”

 “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยส่งเสริม และสานต่อภูมิปัญญาไทย รวมทั้งยังเป็นการปลุกให้ทายาทผ้าขาวม้ารุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงมูลค่าของผ้าขาวม้า ที่จะนำมาสู่เรื่องของนวัตกรรมแห่งการแปรรูปผ้าขาวม้าท้องถิ่นอันหลากหลาย ที่เรียกได้ว่าเป็นการ ทอมือ ทอใจ ช่วยชุมชุม อย่างยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง