หากจะพูดถึงโครงการที่ถูกจัดตั้งและสร้างมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท ซึ่งถือเป็นรากฐานของสังคมไทยที่ประสบความสำเร็จที่สุดโครงการหนึ่ง ชื่อของ โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” ต้องได้รับการพูดถึง
โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” เป็นหนึ่งในโครงการหลักของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทางบริษัทฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาลขับเคลื่อนงานในด้านต่าง ๆ โดยมี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้รับภารกิจสำคัญให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน ร่วมกับพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ ขับเคลื่อนงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีนโยบายการจับคู่กันระหว่างกระทรวงกับบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศไทย
อย่าง บริษัท น้ำตาลมิตรผล จํากัด กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการทำงานเรื่องของนาแปลงใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) กับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาการศึกษา และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จับคู่กับ กระทรวงมหาดไทย เพื่อทำเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก
โดยทาง คุณต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การจะพัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืนจำเป็นต้องมีตัวกลางผู้ประสานงานซึ่งก็คือ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การบริหารองค์กรแบบ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) ทั้ง 76 แห่งทั่วประเทศ “โดยเราได้สร้างโครงการผ่าน 3 กลุ่มงานได้แก่ 1.กลุ่มงานเกษตร 2.กลุ่มงานแปรรูป 3.กลุ่มงานท่องเที่ยวโดยชุมชน นี่คือภาพใหญ่ที่เราใช้กับทุกจังหวัด แต่ขณะเดียวกัน เราก็ให้โอกาสทางท้องถิ่นไปเลือกหาโครงการที่เขาอยากจะทำจริง ๆ มาด้วย ทว่าเราเองก็ต้องมีโครงการระดับประเทศเข้ามารองรับด้วยเช่นกัน”
จุดเริ่มต้นของโครงการ
และนี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” ซึ่งมาจากการที่เราลงพื้นที่กว่า 60 จังหวัด ทั่วประเทศแล้วค้นพบว่า ไปที่ไหนก็จะมีแต่คนทอผ้าลายตาราง “เราจึงมานั่งคิดว่า ถ้าอย่างนั้นจะปรับปรุง ‘ผ้าขาวม้า’ ที่ดูเรียบง่ายให้มีคุณภาพ และมีคุณค่าในสายตาของผู้บริโภค รวมถึงสามารถสร้างรายได้ในจำนวนที่มากพอสำหรับชาวบ้านได้อย่างไร จึงเกิดเป็นไอเดียจนนำไปสู่การเปิดตัวครั้งแรกในปี 2559”
ปัญหาที่พบในการพัฒนาผ้าขาวม้าก็คือ มุมของผู้บริโภคมองว่าเป็นของเชย ของราคาถูก เป็นของของคนรุ่นเก่า รวมไปถึงด้านคุณภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นชายผ้าหลุดรุ่ย ซักไปนานวันแล้วสีตก ทำให้ตัวมันเองมีปัญหาจากทั้งฝั่ง ผู้ซื้อและผู้ผลิต อย่างในมิติการเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภค เราได้ดึงคุณณเดชน์ คูกิมิยะ และคุณน้ำตาล - ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2559 มาเป็นนายแบบและนางแบบใส่ผ้าขาวม้า รวมไปถึงการนำผ้าขาวม้าไปเปิดตัวในงานโตเกียวแฟนชันวีกที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ผลตอบรับจาก โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย
คุณต้องใจ เผยว่า ในมุมผู้บริโภคตอนนี้ก็กำลังค่อย ๆ พัฒนาและปรับมุมมองที่มีต่อสินค้าเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตสินค้าเหล่านี้จะได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้บริโภค
ปัจจุบันเราสามารถดึงชุมชนที่ทำงานด้านผ้ามาได้กว่า 700 แห่งทั่วประเทศ โดยกลุ่มที่ทำยอดขายได้ดีมีจำนวนมาก โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ปี 2559 ที่เก่งที่สุดเป็นชุมชนที่อำนาจเจริญ แบรนด์ของเขาชื่อว่า นุชบา ผลิตภัณฑ์ของเขามียอดขายที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจงานสัมมนา หรืออีเวนต์ต่าง ๆ โดยสินค้าของเขาเป็นสินค้าที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และสามารถเป็นของฝากได้ด้วย “พวกเขาสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนปีหนึ่งหลายล้านบาท แม้งานทอผ้าขาวม้าจะเป็นเพียงอาชีพเสริม แต่รายได้จากผลิตภัณฑ์กลายเป็นรายได้หลัก นี่คือสิ่งที่ชุมชนได้ประโยชน์
ในช่วงปี 2561-2562 เป็นเรื่องของการออกแบบสินค้า ในปีนี้ 2563-2564 เราจะมุ่งเน้นสอนเรื่องการตลาดเป็นหลัก รวมไปถึงการจัดการและการทำบัญชีเพื่อบริหารธุรกิจ เช่นการบริหารต้นทุนและการตั้งราคา อีกหนึ่งภาคส่วนที่มาช่วยเราเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ก็คือสโมสรฟุตบอล เพื่อขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้เพิ่มขึ้น
โครงการ Creative Young Designers
Creative Young Designers เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยกับโครงการสนับสนุนกิจกรรมของสถาบันการศึกษา eisa (Educational Instituted Support Activities) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือ กับกลุ่มนักศึกษา ด้านการออกแบบแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค นำร่องด้วย วิสาหกิจชุมชนแปรรูปร้อยรักษ์ ต.ฮ่องแฮ่ จ.ร้อยเอ็ด กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบแฟชั่น ม.กรุงเทพ ปีถัดมาขยายเครือข่ายการทำงานไปยัง 7 ชุมชน กับอีก 6 มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังร่วมกับ 4 สโมสรฟุตบอลในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นของที่ระลึก พร้อมจำหน่ายผ่านช่องทางในร้านค้าของสโมสร
สำหรับในปีนี้ นอกเหนือจากจะต่อยอดความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องทั้งในด้าน การพัฒนาผ้าขาวม้าชุมชน เทคนิคการทอผ้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า ของใช้ ของที่ระลึก แล้ว ยังมุ่งเน้นในเรื่องการ พัฒนาด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย พร้อมขยายพื้นที่การทำงานออกเป็น 14 ชุมชน กับอีก13 มหาวิทยาลัยอีกด้วย
“สิ่งที่เราชอบมากที่สุดของโครงการ Creative Young Designers ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ของน้อง ๆ ซึ่งทำให้เกิดลวดลายใหม่ ๆ อะไรที่เคยเป็นข้อจำกัด น้อง ๆ เขาก็สามารถคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้ เช่น มีการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน ช่วยให้ผ้าขาวม้ามีกลิ่น โดยในปีนี้น้อง ๆ ก็ได้พัฒนาผ้าขาวม้าที่มีกลิ่นกาแฟ ใบเตย ตะไคร้ เป็นต้น ซึ่งการทำงานกับคนรุ่นใหม่จะไม่มีกรอบมากมาย ทำให้สามารถขยายขอบเขตในการพัฒนาสินค้าออกไปได้เยอะ รวมไปถึงการนำสีธรรมชาติซึ่งเป็นความต้องการหลักของเรามาใช้งานจริง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ” คุณต้องใจ กล่าวปิดท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก #ฐานเศรษฐกิจ