24/01/2560

“บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด” จับมือภาครัฐ – เอกชน – ประชาสังคม ผลักดัน “ลำไย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ ตำบลขัวมุง” กว่า 100 ตัน ส่งตรงจากสวนสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 1


บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด 1 ใน 76 บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ดำเนินงานโดยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ที่มี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวเป็น 1 ใน 12 คณะทำงานภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐของรัฐบาล ภายใต้หลักการ ภาครัฐ (สนับสนุน) ภาคเอกชน (ขับเคลื่อน) ภาควิชาการ (ให้องค์ความรู้) ภาคประชาสังคม (สร้างความเข้มแข็ง) และภาคประชาชน (ลงมือทำ) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด จึงได้เริ่มการดำเนินการในระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนผลผลิตด้านการเกษตร ของ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ ตำบลขัวมุง” ผู้ปลูกลำไยใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร 137 ครัวเรือน ให้สามารถทำการซื้อขายผลผลิตด้วยตัวเองจนครบวงจรได้เป็นครั้งแรก โดยจัดพิธีเปิดการขนส่งลำไยจากชุมชนสู่ผู้ขายโดยตรง ณ ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ลำไย) จังหวัดเชียงใหม่

ในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในงาน ร่วมด้วย นายโชคชัย แก้วป่อง พัฒนาการจังหวัด นายคุณวัฒน์ สุคันธะกุล นายอำเภอสารภี นายเดโช ไชยทัพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด และกรรมการ ได้แก่ นางชาลอต โทณวณิก นายณรงค์ คองประเสริฐ นายโอฬาริก ศรีวงศ์ และนางสาวชวนัสถ์ สินธุเขียว พร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกร นำโดย นายเสน่ห์
ทะพิงค์แก ประธานกลุ่มฯ นำผลผลิตลำไยพันธุ์อีดอ ล็อตแรกของฤดูกาล ส่งขายให้แก่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) โดยนางสาวเมทินี พิศุทธิ์สินธพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสดและบริหารจัดซื้อ เป็นผู้แทนรับผลผลิต

ระบบเดิมของการขายลำไยโดยเกษตรกรผู้ปลูกลำไย อ.สารภี เป็นระบบการผูกขาดซื้อขายและกำหนดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง โดยเกษตรกรไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด ได้ เข้าไปแนะนำแนวทางในการขายแบบธุรกิจครบวงจรด้วยตัวเกษตรกรเอง จึงได้ผลักดันให้จดเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากเกษตรจังหวัด เพื่อที่จะสามารถทำธุรกิจกับห้างสมัยใหม่ได้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงนำผลผลิตส่วนหนึ่งส่งจำหน่ายให้กับพันธมิตรรายแรก คือ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) โดยสามารถรับซื้อผลผลิตได้ถึงกว่า 100 ตัน หรือ 100,400 กิโลกรัม ตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม หรือคิดเป็น 50 % ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มฯ นอกจากนั้น ยังมีกานำพันธมิตรรายอื่นๆ มา

ประสานงานกับชุมชนเพื่อรองรับผลผลิตในอนาคต โดยมีบริษัทพันธมิตรที่สนใจร่วมสนับสนุน อาทิ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ที่จะเปิดตลาด อตก.ในกรุงเทพมหานคร ให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตเข้ามาจำหน่าย เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยจะจัดงานมหกรรมลำไย ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ การนำพันธมิตรเข้ามามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแนวทางให้เกษตรกรได้เรียนรู้การส่งสินค้าให้กับตลาดในหลายรูปแบบ และสร้างตลาดใหม่เพื่อเป็นการดำเนินการในรูปแบบธุรกิจชุมชนที่ยั่งยืน พร้อมเตรียมพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดในการแปรรูปผลผลิตลำไย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป

กระบวนการสร้างแนวทางการทำธุรกิจซื้อขายลำไยอย่างยั่งยืนและเป็นระบบนี้ ทาง ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้เข้ามาร่วมทำงานกับชุมชนตั้งแต่แรก โดยให้คำแนะนำในการจดวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับเกษตรจังหวัดที่เป็นผู้ดูแลการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน จากนั้น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้มีการแนะแนวทางในการขนส่งสินค้าพร้อมอำนวยความสะดวกในการจัดตะกร้า ทำให้สามารถลดต้นทุนของเกษตรกรได้

ในด้านราคาซื้อขาย นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ ตำบลขัวมุง สามารถเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรได้รับเต็มๆ โดยทางท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยังได้บวกค่าขนส่งและค่าแรงในการเก็บผลผลิตให้ต่างหาก ทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มฯ ได้อย่างชัดเจน

สิ่งที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ ตำบลขัวมุง จะได้รับจากนี้ไป คือ แนวทางการค้าขายโดยตรงกับผู้ซื้อ โดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งจะถือเป็นธุรกิจที่จะสืบทอดสู่รุ่นลูกหลานได้ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น จะเป็นแรงดึงดูดให้ประชาชนกลับมาทำงานที่บ้านมากขึ้น และถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี คือ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผลสำเร็จดังกล่าว เกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในจังหวัด โดยมี บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง และสนับสนุนตามกระบวนการ 5 ด้าน คือ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรรับรู้ และการบริหารจัดการ

นอกจากนี้ บริษัท ประชารัฐเชียงใหม่ จำกัด ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานตามแผนเพื่อขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งใน 3 กลุ่มงาน คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อดำเนินการในระยะสั้น กลาง และยาว อาทิ การผลักดันการสร้างแบรนด์กาแฟจากชุมชนเทพเสด็จเข้าสู่ตลาดเพื่อมูลค่าเพิ่ม (อ.ดอยสะเก็ด) การสร้างความยั่งยืนให้แก่ท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่กำปอง (อ.แม่ออน) เป็นต้น โดยเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะผลักดันให้โครงการดังกล่าวขยายผลความสำเร็จได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่