09/02/2561

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย


เมื่อวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2560 โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ได้จัดงานสัมนาเชิงปฎบัติการชุมชนผู้ผลิต (69 ชุมชนที่ได้เข้ารอบ) เพื่อเเลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาการตลาดเเละผลิตภัณฑ์ โดยคณะกรรมการของโครงการมาบรรยายให้ความรู้ในด้านต่างๆ 7 หัวข้อ ได้เเก่

1.การเสริมสร้างอัตลักษณ์ชุมชน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรเสริญ มิลินทสูต

2.ทำอย่างไรให้เเตกต่าง โดยขจิต สุขุม

3.การใช้สีธรรมชาติ โดยศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญเเจทอง

4.ช่องทางการตลาด โดยคุณพรรณวิลาส เเพพ่วง

5.การสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า โดยหม่อมหลงวคฑาทอง ทองใหญ่

6.Labeling & Packaging โดยสมชนะ กังวารจิตต์ นักออกเเบบบรรจุภัณฑ์

7.การแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยคุณเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ นักออกเเบบสิ่งทอ

คุณต้องใจ ธนะชานันท์  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย เป็นโครงการที่จะดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี จากเดือนสิงหาคม 2559-2560  ขณะนี้เราดำเนินโครงการอยู่ในเฟสที่ 2  หลังจากเปิดโอกาสให้ชุมชนส่งผ้าขาวม้าเข้ามาร่วมประกวดในรอบแรกก็ได้คัดเลือกชุมชนจาก 500 กว่าชุมชนที่ส่งเข้าประกวดเหลือเพียง 70 ชุมชน เพื่อเข้าร่วมงานสัมมนาเชิงลึก  ที่ทางโครงการฯ มีความตั้งใจและความมุ่งหวังในการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคให้หันกลับมามองผ้าขาวม้าอีกครั้งหนึ่ง  พร้อมทั้งพัฒนาชุมชนที่ผลิตผ้าขาวม้าให้มีความสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าขาวม้า ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการแปรรูป  ดีไซน์ใหม่ ๆ ในการทำผ้าขาวม้าที่มีความโดดเด่น  ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ๆ ให้กับแต่ละชุมชน มีการเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ มาผลิตผ้าขาวม้ารวมทั้ง ชุมชนต่าง ๆ ก็จะมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้แก่กันได้ ซึ่งหลังจากจบงานสัมมนาเราคาดหวังว่าทางชุมชนต่าง ๆ จะมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นต่อๆไป”

คุณวิโรจน์  ไชยสลี   กลุ่มทอผ้าย้อมสีจากธรรมชาติบ้านฟางกอม  จังหวัดน่าน  เปิดเผยว่า “สำหรับผ้าขาวม้าเมืองน่าน อัตลักษณ์ของผ้าแบบเด่นๆ จะเป็นลวดลาย ลายน้ำไหล และเป็นจกไทยเดิม เราจะทำลวดลายทั้งหมดลงบนผ้าเพื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ อีกส่วนของเราก็จะเป็นเรื่องของสี  สีของเราจะใช้ความเป็นธรรมชาติเช่นดอกไม้  ใบไม้  นำมาลงให้ผ้ามีความโด่ดเด่น ในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ อยากจะรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้ยาวนาน อยากจะนำภูมิปัญญาไปสู่สายตาของชาวโลกให้มากที่สุด  สำหรับการเข้าร่วมสัมมนาเชิงลึกในวันนี้ทำให้รู้จักการย้อมสีแบบใหม่ๆ มีการเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้  ซึ่งผมสามารถนำกลับไปประยุกต์กับสินค้าของผมได้ครับ”

คุณนิ่มนวล  นาโพธิ์ตอง   กลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทรงาม  จังหวัดสระแก้ว  เล่าว่า “ผ้าขาวม้าที่ส่งเข้าร่วมโครงการฯ เป็นผ้าฝ้ายเป็นผ้าลายเกร็ดเก่า  เป็นผ้าลายดั้งเดิม ผ้าลายนี้ทำยากมาก ไม่ค่อยมีใครมาทำกัน  แต่ทางเราจะทำมาฟื้นฟูใหม่ให้เป็นลายของจังหวัดสระแก้ว  ทางเราจะมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า  ผ้าขาวม้าชิ้นใหม่ของทางเราคือการนำผ้าฝ้ายและหญ้าแฝกมาเป็นชิ้นงานทดลองใหม่  ซึงเราจะเน้นตามรอยของพ่อหลวง โดยการทำของที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  สำหรับการมาร่วมงานสัมมนาเชิงลึกในครั้งนี้ได้มาเห็นลายผ้าของจังหวัดต่างๆ และความแตกต่างของแต่ละจังหวัดมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นที่แตกต่างกัน   นำไปพัฒนาผ้าขาวม้าของตนให้เข้ากับคนยุคในปัจจุบันมากที่สุดค่ะ”